MVC C PBL 21


               กระบวนการจัดการเรียนการสอนแบบโครงการหรือชิ้นงานชุดการจัดการเรียนรู้ C-PBL 21 นั้น เป็นกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการสอนได้หลากหลายวิชา  โดยครูผู้สอนสามารถนำไปปรับใช้ได้ตามธรรมชาติของรายวิชานั้นๆ ของแต่ละท่านที่รับผิดชอบและด้วยความแตกต่างของเนื้อหารายวิชา ในแต่ละรายวิชามีทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ ผู้เขียนจึงขอเสนอแนะขั้นตอนการบูรณาการ การนำชุดการจัดการเรียนรู้ C-PBL 21เพื่อนำไปเป็นแนวทางการจัดการเรียนการสอนดังนี้

ขั้นตอนที่ 1วิเคราะห์วิชาที่สอน
               ในขั้นตอนนี้เป็นการวิเคราะห์รายวิชาที่รับผิดชอบ ว่าสามารถจัดการเรียนการสอน เป็นโครงการหรือชิ้นงานได้หรือไม่ โดยปกติแล้วการสอนในรายวิชาหนึ่งรายวิชาใดนั้น ผู้สอนจะต้องศึกษาจุดประสงค์รายวิชา สมรรถนะรายวิชา และคำอธิบายรายวิชาก่อนแล้วนำมาวิเคราะห์ เป็นหน่วยการเรียนรู้ ตามหัวข้อหรือเนื้อหาที่กำหนด ดังนั้นลักษณะรายวิชาที่เป็นรายวิชาปฏิบัติ ก็จะเป็นการง่ายที่จะใช้วิธีการสอนแบบโครงการหรือชิ้นงาน ตัวอย่างแรกเป็นรายวิชาในหมวดวิชาชีพ ระดับ ปวส. สาขาวิขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ซึ่งครูผู้สอนได้รับมอบหมายให้ทำการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาการประยุกต์ใช้โปรแกรมสื่อประสม รหัสวิชา 3204 2103ซึ่งเมื่อวิเคราะห์รายวิชาแล้วพบว่านักศึกษาต้องเรียนรู้การใช้โปรแกรมสื่อประสมต่างๆ ในการสร้าง การนำเสนอ โดยสามารถจัดการเรียนการสอนเป็นโครงการหรือชิ้นงานได้ ผู้เขียนจึงให้แนวทางแก่นักศึกษาในการจัดทำโครงการภาพยนตร์สารคดี แทนที่จะเรียนรู้การใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเพียงอย่างเดียว เพราะการทำโครงการภาพยนตร์สารคดีเรื่องหนึ่งนั้น นักศึกษาจะต้องเรียนรู้กระบวนการและลงมือปฏิบัติการตามขั้นตอนการผลิตภาพยนตร์สารคดีทุกขั้นตอนและมีประสบการณ์ในการผลิตภาพยนตร์สารคดีจากการลงมือปฏิบัติจริง

               ตัวอย่าง รายวิชาในหมวดวิชาชีพ ระดับ ปวช. สาขาวิขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ     ชื่อวิชา โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ รหัสวิชา 2204 2109 ซึ่งเป็นอีกรายวิชาหนึ่งที่ครูผู้สอนสามารถใช้วิธีการสอนแบบโครงการสอดแทรกเข้าไปในการจัดการเรียนสอนได้โดยวิชานี้ นักเรียนจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการคำนวณทางสถิติเบื้องต้นและการใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติในคอมพิวเตอร์  ครูผู้สอนวิเคราะห์รายวิชาแล้วพบว่าหากนักเรียนเรียนรู้แต่ทฤษฎีหรืออาจจะคำนวณสถิติพื้นฐานได้ก็จริง แต่ยังมองไม่ออกว่าจะนำสถิติเหล่านั้นไปใช้อย่างไรในการทำงานจริง ครูผู้สอนจึงให้แนวทางในการจัดทำโครงการแก่นักเรียน เป็นการจัดทำโครงการงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ที่นักเรียนมีความสนใจ และนำความรู้ที่เรียนไปใช้ได้จริงกับโครงการงานวิจัยดังกล่าว เช่น โครงการงานวิจัยการศึกษาความพึงพอใจในการใช้บริการอินเตอร์เน็ทไร้สายภายในวิทยาลัย, โครงการงานวิจัยการศึกษาความพึงพอใจในการเข้าร่วมกิจกรรมสถานศึกษาของนักเรียน นักศึกษา  เป็นต้น

ขั้นตอนที่ 2เรียนรู้ ชุดการจัดการเรียนรู้ C-PBL21ก่อนนำไปใช้
               ชุดการจัดการเรียนรู้ C-PBL21(Critical Thinking & Project Based Learning) เป็นการพัฒนาชุดการจัดการเรียนรู้ จากการนำทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยใช้กระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ (Critical Thinking) ควบคู่กับการจัดการเรียนการสอนแบบเป็นโครงการ (Project Based Learning)มาบูรณาการเข้าด้วยกัน โดยชมรมการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นกัลยาณมิตรทางการศึกษา ร่วมจัดทำ ปรับปรุง พัฒนาจนตกผลึกเป็น ชุดการจัดการเรียนรู้ C-PBL21      ที่ประกอบไปด้วย กระบวนการจัดการเรียนรู้7 ขั้นตอน (7 Modules) ได้แก่
               1. การเตรียมนักเรียน
               2. การสำรวจข้อมูล
               3.  การวิเคราะห์การตัดสินใจ
               4.  การวางแผนกิจกรรม
               5.  การลงมือปฏิบัติ
               6.  การสรุปความรู้เพื่อนำเสนอ
               7.  การต่อยอดองค์ความรู้

               ขั้นตอนที่ 3 ลงมือปฏิบัติ  นักศึกษาลงมือถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีและตัดต่อตาม Story board ที่เขียนไว้โดยก่อนลงมือปฏิบัติงานนั้น ให้นำกิจกรรมทักษะการคิดอย่างเป็นระบบการวิเคราะห์ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น (Potential Problem Analysis : PPA) มาใช้วิเคราะห์งานที่จะทำเพื่อให้ผู้เรียนได้ตระหนักคิดอย่างรอบคอบลดความเสี่ยงต่อปัญหาในการดำเนินงานที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
ขั้นตอนการนำเสนอ   นักศึกษาแต่ละกลุ่มนำเสนอภาพยนตร์สารคดีในหัวข้อเรื่องที่แต่ละกลุ่มนั้นได้ตัดสินใจเลือก วางแผน และลงมือปฏิบัติ 
ขั้นต่อยอดองค์ความรู้เป็นการสรุปองค์ความรู้ที่ได้จากการลงมือปฏิบัติการถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีโดยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มอื่น ๆ และนำไปสู่การจัดการองค์ความรู้(Knowledge Management : KM)

               ขั้นตอนที่ 4ผลการนำชุดการจัดการเรียนรู้ C-PBL21 ไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน   
     จากการที่ครูผู้สอนได้นำชุดการจัดการเรียนรู้ C-PBL21 ไปบูรณาการใช้จัดการเรียนการสอนในรายวิชาการประยุกต์ใช้โปรแกรมสื่อประสมนั้นสามารถสรุปผลได้ดังนี้คือ ในด้านประโยชน์ที่ได้รับ นักศึกษามีความกระตือรือร้นในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในขั้นตอนของชุดการจัดการเรียนรู้ C-PBL21 มีบรรยากาศในการจัดการเรียนการสอนที่ดี เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักศึกษากับนักศึกษา และนักศึกษากับครูผู้สอน นักศึกษาได้มีบทบาทในการออกความคิดเห็น สร้างชิ้นงานจากความคิดของตนเอง เป็นผลให้ชิ้นงานที่นักศึกษาผลิตออกมามีคุณค่าต่อความรู้สึกของนักศึกษาเพราะมาจากการระดมความคิดและการลงมือทำด้วยตนเอง 

               ข้อเสนอแนะจากครูผู้สอนคือ ครูผู้สอนนำไปใช้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนในวิชา การประยุกต์ใช้โปรแกรมสื่อประสม ของแผนกวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ อาจจะขาดความสะดวกเรื่องพื้นที่ในการทำกิจกรรมกลุ่มตามขั้นตอนต่าง ๆ หากเป็นไปได้ ในการทำกิจกรรมกลุ่มนั้นควรใช้ห้องโล่ง ๆ ที่มีพื้นที่เหมาะสมแก่การจัดกิจกรรม
ผลที่เกิดขึ้นจากขยายผลการถ่ายทอดการนำชุดการจัดการเรียนรู้ C-PBL 21 ให้ไปใช้ สามารถอธิบายเป็นหัวข้อด้านต่าง ๆ ได้ดังนี้

ด้านครูที่เข้ารับการฝึกอบรมและนำไปใช้งาน 
               1. ครูมีกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายให้แก่ผู้เรียน
               2. ลดภาระในการจัดการเรียนรู้ของครู เนื่องจากครูจะเป็นผู้ที่ค่อยให้คำแนะนำ เป็นการฝึกให้ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ด้วยตัวเอง สามารถคิดวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น
               3. ครูสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนที่แตกต่างกัน แต่ต้องการผลสัมฤทธิ์เดี่ยวกัน
               4. ครูสามารถดึงและพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนที่มีภายในออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์จากชิ้นงานหรือนวัตกรรมที่ผู้เรียนสร้างขึ้น

ด้านผู้เรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ด้วยชุดจัดการเรียนรู้ C-PBL 21
               1. ผู้เรียนสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองให้ผู้อื่นเห็นจากงานวิจัยหรือนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้
               2. ผู้เรียนเกิดทักษะกระบวนการคิด วิเคราะห์และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบภายใต้ทฤษฎีและหลักการที่ถูกต้อง
               3. ผู้เรียนมองเห็นภาพรวมทั้งหมด ในการทำงานหรือการสร้างชิ้นงาน เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ทันในระยะเวลาที่กำหนด
               4. ผู้เรียนสามารถนำเอาองค์ความรู้ที่ได้รับ ไปใช้ในการประกอบอาชีพและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ เพื่อดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีระบบมากยิ่งขึ้น

ด้านการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ชุดจัดการเรียนรู้ C-PBL 21
               จากการประเมินติดตามคณะครูที่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้การจัดการเรียนการสอนด้วยชุดการจัดการเรียนรู้ C-PBL 21 จากชมรมการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ไปใช้ในการจัดการเรียนการรู้ เพื่อคัดเลือกครูผู้สอนเข้าร่วมกิจกรรมการถอดบทเรียน หลังจากการนำชุดการจัดการเรียนรู้  C-PBL 21 แล้วพบว่า ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านความคิด มีการจัดการความคิดอย่างเป็นระบบและเกิดเป็นชิ้นงานขึ้น ผู้เรียนมีความสุขและกระตือรือร้น ใฝ่เรียนรู้มากยิ่งขึ้น และทางชมรมการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ผลสัมฤทธิ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น จากการถอดบทเรียนของครูผู้สอนมาวางแผนการดำเนินการวางแผนจัดทำ โครงการขยายผลการใช้ ชุดการจัดการเรียนรู้ C-PBL 21 4 ภาค คือ 1. ภาคเหนือที่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุโขทัย 2. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ วิทยาลัยอาชีวศึกษานครราชสีมา 3. ภาคกลางที่วิทยาลัยเทคนิคนครนายก และ4.ภาคใต้ที่ วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี   เพื่อขยายองค์ความรู้ดังกล่าวสู่ครูผู้สอนอาชีวศึกษา ให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนอาชีวศึกษา ให้มีทักษะการเรียนรู้ที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ต่อไป

วีดีทัศน์ประกอบ


การประชุมแลกเปลี่ยน

วันที่ 2018-07-13 13:00:00 เข้าร่วม


แลกเปลี่ยนความคิดเห็น